ฝี เกิดจากอะไร? สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน ดูแลตัวเอง


ฝี เกิดจากอะไร

ฝี หรือโรคฝี เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จนก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมานบริเวณที่เป็น นอกจากนี้ ฝียังสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยจะมีลักษณะคล้ายกับสิว แต่อาการเจ็บปวดจะรุนแรงกว่า หากเป็นฝีขนาดเล็กอาจหายได้เอง แต่ถ้าเป็นฝีขนาดใหญ่ไม่สามารถปล่อยให้หายเองได้แบบสิว ควรพบแพทย์ ดังนั้นเรามาดูกันว่า ฝีนั้นเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไรบ้าง มีวิธีรักษาฝีด้วยตัวเองไหม

ความหมายของฝี

ฝี (Abscess) คือ ส่วนของเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อ ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวและเนื้อเยื่อที่ตาย ส่วนเชื้อที่ทำให้เกิดฝีคือ เชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และเชื้ออื่นๆ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย โดยหลังจากที่เนื้อเยื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียจะทำให้ต่อมไขมันหรือรูขุมขนบนผิวหนังบวมขึ้น และมีหนองข้างในจนเกิดการอักเสบ 

ฝีสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน แต่ส่วนมากแล้ว เราจะพบฝีบนผิวหนังภายนอกได้มากกว่า ซึ่งมักจะมีขนาดเล็ก และสามารถรักษาได้ง่าย แต่สำหรับฝีที่เกิดกับอวัยวะภายในนั้น ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างถูกต้องเท่านั้น 

ฝีจัดเป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์ (Steroid) เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตรวจพบฝีได้มากกว่ากลุ่มบุคคลอื่นๆ

กลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดฝี 

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดฝีได้ง่าย มักเป็นกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ซึ่งได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome: AIDS) 
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ผู้ที่ได้รับแผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก
  • ผู้ที่ร่างกายได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
  • ผู้ที่ผ่านการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน

ตำแหน่งสามารถเกิดฝีได้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ฝีสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย และมีหลายอวัยวะที่เกิดฝีได้โดยที่คุณอาจไม่เคยทราบมาก่อน เช่น

  • ฝีจากโพรงหนองที่ฟัน เป็นฝีซึ่งเกิดจากถุงหนองบริเวณเนื้อใต้ฟัน หรือบริเวณเหงือก และกระดูกกรามใต้ฟัน
  • ฝีทอนซิล เป็นฝีที่เกิดบริเวณต่อมทอนซิลในช่องปาก และผนังด้านในลำคอ
  • ฝีต่อมบาร์โธลิน เป็นฝีที่เกิดในต่อมบาร์โธลิน (Bartholin gland) บริเวณผิวหนังที่แคมอวัยวะเพศหญิง
  • ฝีที่ก้น จะเกิดบริเวณผิวหนังที่มีรอยแยกหรือร่องก้น
  • ฝีบริเวณทวารหนัก เป็นฝีที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ตรงและทวารหนัก
  • ฝีไขสันหลัง เกิดบริเวณโดยรอบไขสันหลัง (Spinal cord) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อรูปทรงกระบอกที่ทำงานร่วมกับระบบประสาทส่วนกลาง
  • ฝีในสมอง เป็นฝีที่เกิดภายในเนื้อสมองใต้กะโหลกศีรษะ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัย

สาเหตุของการเกิดฝี

สาเหตุของการเกิดฝีที่พบเจอได้บ่อยที่สุดคือ 

  • การอุดตันของต่อมน้ำมัน หรือต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง 
  • การอักเสบของรูขุมขน 
  • เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว 

จากสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อโรคอื่นๆ เข้าไปสะสมภายในต่อม ทำให้เกิดการต่อต้านกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยฝีจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามอาการอักเสบในบริเวณนั้นๆ และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย ซึ่งมักจะเกิดกับฝีที่อวัยวะภายในมากกว่า เช่น เป็นไส้ติ่งอักเสบและแตกภายในช่องท้องจนเกิดอันตราย 

นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนจากฝี ยังเกิดได้จากการได้รับบาดเจ็บภายนอก หรือภายหลังการผ่าตัดช่องท้องด้วย

อาการของฝี

อาการโดยทั่วไปของฝีคือ เกิดตุ่มหนองซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อนสีแดง และผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบริเวณก้อนดังกล่าว อีกทั้งเมื่อสัมผัสโดนก็จะรู้สึกร้อน กดแล้วเจ็บ 

เมื่อฝีเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะสามารถคลำพบหัวฝีเจอได้ จากนั้นไม่นานฝีก็จะแตกเอง ซึ่งผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะไม่เช่นนั้น เชื้อโรคจากฝีก็จะแพร่กระจายไปสู่กระแสเลือด จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ 

การวินิจฉัยฝี

การวินิจฉัยฝีสามารถทำได้ผ่านการตรวจสอบจากภายนอกของรอยโรค หรืออาจเป็นการสอบถามอาการว่าเจ็บปวดมากน้อยเพียงใด และสังเกตอาการบวมแดง ร้อนของเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง รวมถึงวัดขนาดของตุ่มว่ามีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรหรือครึ่งนิ้วหรือไม่ และมีอาการไข้ในระหว่างการติดเชื้อร่วมด้วยหรือเปล่า

หากคุณพบว่าตนเองมีตุ่มคล้ายกับฝี หรือมีอาการที่ใกล้เคียงจากที่กล่าวมา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการต่อไป ซึ่งขั้นตอนการวินิจฉัยจะเริ่มจากสอบถามประวัติสุขภาพ ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายในบริเวณที่เกิดฝีอย่างละเอียดด้วยวิธีต่อไปนี้  

  • ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan (Computerised Tomography) 
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging) แต่มักจะตรวจในกรณีที่ฝีเกิดบริเวณอวัยวะภายใน

วิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง

ฝีเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดฝีและความรุนแรงของอาการ หากเป็นฝีขนาดเล็กมีวิธีรักษาฝีด้วยตัวเอง แต่หากเป็นฝีขนาดใหญ่และมีอาการปวด ไม่ควรฝืนรักษาด้วยตนเองหรือใช้วิธีที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง

วิธีรักษาฝีด้วยตัวเองสำหรับฝีขนาดเล็ก ไม่ปวดมาก

  1. รักษาความสะอาดทุกวัน ล้างทำความสะอาดป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม
  2. ประคบร้อนด้วยน้ำอุ่น เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ฝีแตกและระบายหนองได้ง่ายขึ้น
  3. ไม่เจาะ ไม่กด หรือบีบฝี ไม่ให้ของเหลวในฝีไหลออกมาอย่างเด็ดขาด เพราะเชื้อจากฝีจะส่งผลโดยตรงกับเส้นเลือดที่อยู่ใกล้เคียงกับฝี 
  4. ทาขี้ผึ้งหรือครีมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ สอบถามได้ที่ร้านขายยายที่มีเภสัชกรประจำร้าน
  5. ทานยาบรรเทาปวดทั่วไป เพื่อลดอาการปวดหรือไข้ ใช้ยาแก้ปวดทั่วไปอย่าง พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟนก็ได้

การรักษาสุขภาพให้ดี อย่าง ออกกำลังกายและดื่มน้ำมากๆ จะช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง 

โดยปกติการรักษาฝีด้วยตัวเอง ควรทำให้ฝีหายหรือมีอาการดีขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

หากพบว่าฝีมีขนาดใหญ่ร่วมกับมีอาการปวดอย่างรุนแรง 

หากฝีไม่หายภายใน 2 สัปดาห์หรืออาจแย่ลง เช่น มีหนองไหลมาก ไข้สูง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผิวหนัง ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อบริเวณฝี หรือใช้วิธีผ่าตัดเพื่อระบายหนองในฝีออกมาให้หมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญที่สุด

วิธีป้องกันฝี

หัวใจสำคัญในการป้องกันฝีที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกให้แข็งแรง รวมถึงมีการสร้างภูมิต้านทานที่ดีให้กับร่างกาย ซึ่งได้แก่

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายรับสารอาหารที่ครบถ้วน 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • หมั่นดูแลรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของร่างกายอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีและไม่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย 

หากคุณหมั่นดูแลสุขภาพทั้งตัวคุณเอง และคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ โอกาสในการเกิดฝีก็ย่อมลดน้อยลง และที่สำคัญ หากคุณตรวจพบว่าตนเองเป็นฝี ก็ยิ่งไม่ควรปล่อยปละละเลยจนทำให้อาการของฝีลุกลาม นอกจากนี้ คุณยังไม่ควรบีบ แกะ แคะ หรือเกาฝีอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้อาการของฝีเกิดการติดเชื้อลุกลามหนักขึ้นได้


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat