ทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) กับ พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร ด้วยบริการจาก HDcare


ทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) กับ พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร ด้วยบริการจาก HDcare

HDcare สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • ภาวะมีบุตรยาก คือ ภาวะที่คู่สามีภรรยาไม่สามารถมีบุตรเองได้ตามธรรมชาติ แม้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันนาน 6 เดือน
  • สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยาก คือ อายุที่มากขึ้นทำให้จำนวนและคุณภาพไข่ลดลง ส่วนสาเหตุในผู้ชายคือ จำนวนสเปิร์มที่น้อย และคุณภาพไม่ดี ปัญหาสุขภาพ แต่โอกาสพบปัญหาจากผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง
  • อิ๊กซี่ หรือ ICSI คือ การทำเด็กหลอดแก้วด้วยการคัดสเปิร์มที่มีคุณภาพแล้วฉีดตรงไปที่ไข่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วเช่นกัน การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเป็นแบบ 1 : 1 จุดเด่นของวิธีนี้คือ ไม่ได้ปล่อยให้ผสมกันเอง แต่ทั้งสเปิร์มและไข่ไปจนถึงตัวอ่อนได้รับการคัดเลือกในทุกขั้นตอน ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
  • บทความนี้ได้รับการสปอนเซอร์จาก HDcare ศูนย์รวมการผ่าตัดโดยทีมแพทย์ที่มี่ประสบการณ์ จาก HDmall.co.th แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณา

สาเหตุที่ทำให้คู่แต่งงานมีบุตรยาก คือ ความพร้อมในการมีครอบครัวของคนช้าลง เมื่อความพร้อมมาช้า อายุที่มากขึ้นก็ส่งผลให้คุณภาพของเซลล์สืบพันธุ์ทำให้ไม่สมบูรณ์เหมือนตอนหนุ่มสาว

โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุมากขึ้น การตั้งครรภ์ก็เกิดขึ้นได้ยาก รวมถึงปัญหาสุขภาพต่างๆ ด้านระบบสืบพันธุ์ เช่น เนื้องอก ถุงน้ำรังไข่

ส่วนผู้ชาย ปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องของปริมาณและคุณภาพสเปิร์มที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่กลับพบได้น้อยกว่าปัญหาของผู้หญิงมาก จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาผู้ที่เข้ามาปรึกษาเรื่องการมีบุตรยาก มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น

พ.ต.ท. ดร. นพ. สุธรรม สุธาพร หรือหมอปอนด์ สูติแพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ด้านการผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยากและภาวะความผิดปกติต่างๆ ทางนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการของ HDcare จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) อย่างละเอียด

อ่านประวัติของหมอด้วงได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอปอนด์” สูติแพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ด้านการผ่าตัดส่องกล้องและส่องกล้องสำหรับภาวะมีบุตรยากและภาวะความผิดปกติต่างๆ ทางนรีเวช]

เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ภาวะมีบุตรยากคืออะไร?

ภาวะมีบุตรยาก คือ ภาวะที่คู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้ แม้ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีปกติอย่างสม่ำเสมอ

คนที่เข้าข่ายว่า “มีบุตรยาก” คือ คู่ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่มีการคุมกำเนิด ในระยะเวลา 6 เดือนหากไม่ตั้งครรภ์จะถือว่าเป็น "ผู้ที่มีบุตรยาก"

ขณะที่คนอายุมากกว่า 35 ปี มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอในเกณฑ์เดียวกัน ภายใน 1 ปี หากไม่ตั้งครรภ์จะถือว่าเป็นผู้ที่มีบุตรยาก

เด็กหลอดแก้ว IVF คืออะไร?

การทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF หรือ ไอวีเอฟ (In Vitro Fertilization) คือ การทำไข่ที่สุกเต็มที่ออกมาจากรังไข่ผู้หญิง และนำสเปิร์มจากผู้ชายมาผสมกันบนจานแก้วหรือหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการ

เมื่อไข่และอสุจิเกิดการปฎิสนธิขึ้นจนเกิดเป็นตัวอ่อน (Embryo) จะส่งกลับเข้าไปไว้ในมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวบนผนังมดลูกและเติบโตตามปกติเหมือนการตั้งครรภ์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์

เด็กหลอดแก้ว ICSI คืออะไร?

การทำเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI หรือ อิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือ การทำเด็กหลอดแก้วรูปแบบหนึ่ง ด้วยการคัดเลือกสเปิร์มที่สมบูรณ์ที่สุดฉีดตรงไปที่เซลล์ไข่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วช่วยให้เกิดการปฏิสนธิ เป็นแบบ 1 : 1

จุดเด่นของการทำ ICSI คือ ไม่ได้ปล่อยให้สเปิร์มและเซลล์ไข่ผสมกันเอง รวมถึงหลังปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน เซลล์และตัวอ่อนจะได้รับการคัดเลือก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น

เด็กหลอดแก้วแบบ ICSI กับ IVF ต่างกันอย่างไร?

การทำเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI กับ IVF มีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ขั้นตอนการปฏิสนธิระหว่างไข่และสเปิร์ม

สำหรับ ICSI นักวิทยาศาสตร์จะฉีดสเปิร์มเข้าไปในเซลล์ไข่ แบบ 1 : 1 ขณะที่ IVF จะปล่อยให้สเปิร์มและไข่ผสมกันเองอย่างอิสระ แต่ทั้งสองวิธีนี้ "สเปิร์มและไข่" ได้รับการคัดเลือกตัวที่สมบูรณ์ที่สุดมาแล้ว และทำการปฏิสนธิภายในห้องปฏิบัติการ ก่อนที่จะนำตัวอ่อนที่ได้ไปเลี้ยงและฉีดกลับเข้ามดลูกในลำดับต่อไป

ไม่ว่าจะใช้วิธี ICSI หรือ IVF หากคัดเลือกเซลล์สืบพันธุ์ด้วยวิธีมาตรฐาน ได้ตัวอ่อนที่แข็งแรง แต่ไม่ได้ตรวจโครโมโซม ก็มีโอกาสสำเร็จประมาณ 50% แต่หากมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน ทั้ง 2 วิธี มีโอกาสสำเร็จประมาณ 70%

ทั้งนี้ความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วขึ้นอยู่กับคุณภาพของไข่และสเปิร์มรวมทั้งสุขภาพของคนไข้แต่ละคน

การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว อาจไม่จำเป็นต้องทำในทุกคู่สมรส ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และความต้องการของคู่สมรสด้วย

เด็กหลอดแก้ว ICSI เหมาะกับใครบ้าง?

การทำเด็กหลอดแก้ว ICSI เหมาะกับคู่สมรสที่พยายามมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือ มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ มีปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายต่างๆ เช่น มีสเปิร์มและไข่ที่ไม่สมบูรณ์ มีความผิดปกติที่โพรงมดลูก มีเนื้องอกมดลูก รวมไปถึงผู้ที่เคยแท้งบุตร หรือมีบุตรคนก่อนหน้าที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ คู่สมรสที่มีการทำหมันไปแล้ว และต่อมาต้องการมีลูกภายหลัง

ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว แบบ ICSI มีอะไรบ้าง?

สำหรับขั้นตอนการทำ ICSI คู่สมรสควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อคุยถึงขั้นตอน ความเสี่ยง รวมไปถึงการตรวจร่างกายประเมินปัญหา

จากนั้นฝ่ายหญิงจะเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ ส่วนฝ่ายชายจะต้องเก็บสเปิร์ม จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จะทำการปฏิสนธิระหว่างไข่กับสเปิร์ม แล้วเลี้ยงต่อจนกลายเป็นตัวอ่อน

ในบางคนจะมีการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน ในระหว่างนั้นฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อให้พร้อมสำหรับขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน โดยแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดดังนี้

1. รับคำปรึกษาจากแพทย์-ตรวจร่างกายประเมินปัญหา

ขั้นตอนแรกของการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งแบบ ICSI และ IVF แพทย์จะให้คำปรึกษาและตรวจเบื้องต้น เพื่อประเมินปัญหาของคู่สมรสว่าการมีบุตรยากมีสาเหตุจากฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง หรือทั้งคู่ และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

สำหรับผู้หญิงต้องมีการตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อดูความสมบูรณ์ของสุขภาพ เช่น ตรวจรังไข่ ตรวจดูความผิดปกติต่างๆ รวมไปถึงตรวจหาก้อนซีสต์ฯ

นอกจากนี้ยังต้องตรวจ "ค่าไข่คงเหลือ" ในรังไข่ว่ามีเซลล์ไข่เหลือเท่าไหร่ ซึ่งตรวจได้ 2 วิธี ดังนี้

  • ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูจำนวนของไข่
  • เจาะเลือดตรวจฮอร์โมนที่สร้างจากไข่ในรังไข่ หรือ AMH (Anti-Mullerian Hormone) ถ้าค่าผลเลือดฮอร์โมนต่ำกว่ามาตรฐาน แปลว่ามีค่าไข่คงเหลือน้อย

2. กระตุ้นไข่

หลังจากสุขภาพร่างกายพร้อม จะเริ่มขั้นตอนการกระตุ้นไข่ครั้งแรกในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือนของฝ่ายหญิง

แพทย์จะให้ยา โดยยาที่ใช้มีทั้งยาฉีดและยากิน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ยาฉีดที่ท้อง และจะต้องฉีดยาทุกวันในเวลาเดียวกัน ส่วนปริมาณยาที่ใช้ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายคนไข้โดยเฉลี่ยฉีดอยู่ประมาณ 10 วัน

จุดประสงค์ของการฉีดยากระตุ้นก็เพื่อให้ได้ไข่ที่มีการเจริญเติบโตมากที่สุด โดยเซลล์ไข่ที่โตสมบูรณ์เหมาะกับการผสมกับสเปิร์มควรมีขนาด 18 มิลลิเมตร ส่วนจำนวนไข่ที่เหมาะสมในการทำ ICSI อยู่ที่ประมาณ 8-15 ใบ

จำนวนและคุณภาพของไข่ที่ได้ ขึ้นกับอายุของผู้หญิงด้วย ถ้ากระตุ้นไข่ตอนอายุ 30 ปี อาจจะได้ไข่ 15-20 ใบ แต่ผู้หญิงคนเดียวกัน ถ้ากระตุ้นไข่ตอนอายุ 40 ปี อาจจะเหลือไข่เพียง 8-10 ใบเท่านั้น

ระหว่างช่วงการกระตุ้นไข่ แพทย์จะนัดตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูการเติบโตของไข่เป็นระยะ ระหว่างนี้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรรุนแรงจนเกินไป สิ่งที่ควรงด คือการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ยกเว้นในกลุ่มคนที่มีการตอบสนองต่อยาไวมากพิเศษต้องระมัดระวังเรื่องการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือกิจกรรมที่ใช้ร่างกายรุนแรง

กรณีที่ไม่สามารถเก็บไข่ได้เลย หรือ ได้น้อยและไม่มีคุณภาพพอ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ไข่บริจาคเป็นทางเลือก

เมื่อไข่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการเก็บไข่ แพทย์จะฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้ไข่สุกอีกครั้งก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเก็บไข่

3. การเก็บไข่

วันเก็บไข่โดยปกติจะอยู่ในช่วงวันที่ 14-15 หลังจากกระตุ้นไข่ครั้งแรก

หลังจากฉีดกระตุ้นให้ไข่ตกแล้ว การเก็บไข่จะต้องทำภายในประมาณ 36 ชั่วโมง คนไข้ต้องงดน้ำ งดอาหาร มีการให้ยานอนหลับทางเส้นเลือด

แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กที่ส่วนปลายติดเครื่องมือตรวจอัลตราซาวด์เข้าไปทางช่องคลอด เครื่องอัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือในการหาตำแหน่งไข่ ส่วนเข็มจะทำหน้าที่ดูดไข่ออกมา

การเก็บไข่ใช้เวลาประมาณ 30 นาที นักวิทยาศาสตร์จะนำของเหลวที่ดูดออกมาได้ ไปตรวจหาเซลล์ไข่ ก่อนจะนำไปวิเคราะห์และนำไปเลี้ยงในน้ำยาเพื่อรอการผสม

หลังจากเก็บไข่อาจพบอาการเลือดออกซึมทางช่องคลอดได้ ส่วนมากจะหายไปเอง สำหรับอาการเจ็บ มีน้อยมาก เพราะว่าแผลมีขนาดเล็ก การเก็บไข่มักจะได้รับยาแก้ปวดกับยาฆ่าเชื้ออยู่แล้ว

สำหรับคนไข้ ที่มาเก็บไข่พักฟื้นเพียง 1-2 ชั่วโมง เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องนอนค้างคืนที่สถานพยาบาล

4. การเก็บสเปิร์ม

การดูแลก่อนการเก็บสเปิร์มของคุณผู้ชาย คือ Healthy Lifestyle กินดี อยู่ดี งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ กินวิตามินเสริมได้ เช่น ซิงค์ช่วยบำรุงสเปิร์ม หรือ สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และสามารถออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสม

แพทย์จะให้ผู้ชายเก็บสเปิร์ม ด้วยวิธีช่วยตัวเอง (Masturbation) ซึ่งการเก็บไม่มีปริมาณที่ระบุแน่ชัด แต่จะเก็บทั้งหมดที่สามารถทำได้

การประเมินสเปิร์มเพื่อทำเด็กหลอดแก้ว ICSI จะพิจารณาจากค่าความเข้มข้น จำนวนสเปิร์ม ต่อ 1 ซีซี ความสามารถในการเคลื่อนไหว ยิ่งเคลื่อนไหวได้ดี วิ่งได้เร็ว ก็จะเป็นตัวที่ดี ต่อมาก็คือรูปร่างที่ต้องถูกต้องตามเกณฑ์ ไม่มีหัวแหว่ง หางแหว่ง ยิ่งรูปร่างดีมาก ก็ยิ่งดีต่อการตั้งครรภ์

กรณีที่ผู้ชายทำหมันไปแล้ว และต้องการกลับมามีลูกด้วยการทำ ICSI มี 2 ทางเลือกในการเก็บสเปิร์ม คือ

  1. ทำการแก้หมันก่อนแล้วเก็บสเปิร์ม ด้วยวิธีช่วยตัวเอง (Masturbation)
  2. เจาะดูดหรือผ่าตัดเก็บสเปิร์มจากอัณฑะโดยตรง

ผู้ชายสเปิร์มน้อย ทำ ICSI ได้ไหม? ผู้ชายที่มีปัญหาคือมีสเปิร์มน้อย แพทย์ก็จะใช้วิธีเจาะดูดหรือผ่าตัดเก็บสเปิร์มจากอัณฑะโดยตรง

ตัวอย่างเทคนิควิธีเก็บสเปิร์มจากอัณฑะ (ขึ้นกับข้อบ่งชี้ของคนไข้และดุลยพินิจของแพทย์)

  • PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) ใช้เข็มแทงอัณฑะเข้าไปที่ท่อพักน้ำเชื้อ เพื่อดูดสเปิร์มออกมา
  • TESE (Testicular Epididymal Sperm Extraction) ผ่าตัดเอาเนื้ออัณฑะออกมา แล้วคัดสเปิร์มออกมาจากเนื้อเยื่อ
  • TESA (Testicular Sperm Aspiration) ใช้เข็มแทงเข้าไปในอัณฑะ เพื่อดูดสเปิร์มออกมา
  • MESA (Microsurgical Epiddymal Sperm Aspiration) ผ่าตัดหาท่อพักน้ำเชื้อ ส่วน epididymis ใช้เข็มแทงเข้าไปเพื่อดูดสเปิร์มออกมา

5. การผสมไข่และสเปิร์ม แบบ ICSI (การปฏิสนธิ)

หลังจากเก็บทั้งไข่และสเปิร์ม มาตรวจวิเคราะห์แล้ว นักวิทยาศาสตร์จะคัดเลือกสเปิร์มที่สมบูรณ์ที่สุดฉีดกลับเข้าไปในไข่ให้ปฏิสนธิ แบบ 1 : 1

6. การเลี้ยงตัวอ่อน

หลักการเลี้ยงตัวอ่อน คือ การควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับตัวอ่อน เสมือนว่าตัวอ่อนอยู่ในมดลูกผู้หญิงจริงๆ เช่นอุณหภูมิ ค่าความชื้น ค่า Ph ต่างๆ

ปัจจุบันตู้เลี้ยงตัวอ่อน มีหลายรุ่น หลายยี่ห้อ ถูกพัฒนาไปจนสามารถดูการเจริญเติบโตของตัวอ่อนผ่านกล้องได้แบบ Realtime โดยที่ไม่ต้องนำไข่ ออกมาจากตู้ ซึ่งจะไม่กระทบต่อคุณภาพตัวอ่อนเหมือนในอดีต มีการติดกล้องเพื่อบันทึกภาพแบบ Timelapse รวมทั้งให้คะแนนประเมินตัวอ่อนเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกตัวอ่อนด้วย

สำหรับการเลี้ยงตัวอ่อน จะเลี้ยงเป็นเวลา 5 วัน เพื่อให้ได้ตัวอ่อนในระยะ Blastocyst ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะนำกลับเข้าสู่มดลูก

7. การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน

ทุกคู่สามีภรรยาที่เข้ามาทำ ICSI ไม่จำเป็นต้องตรวจโครโมโซมเสมอไปแต่การตรวจโครโมโซมมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาทางพันธุกรรมที่จะเกิดแก่ตัวอ่อน เช่นโรคทางพันธุกรรม และเพิ่มความสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้

ข้อบ่งชี้ในการตรวจโครโมโซมตัวอ่อน คือ ครอบครัวคู่สมรสมีประวัติความผิดปกติด้านพันธุกรรม หรือแม้ว่าไม่มีประวัติ แต่อายุเกิน 35 ปี หรือ เคยทำเด็กหลอดแก้วเกิน 2 ครั้งแล้วไม่ติด หรือ เคยมีบุตรคนอื่นมาก่อนและบุตรคนต่อไปมีประโยชน์ในการเอาสเต็มเซลล์จากสายสะดือมาใช้รักษาบุตรคนแรก หรือ เคยเกิดการแท้งมาก่อน

การตรวจโครโมโซมตัวอ่อนจะทำในระยะ Blastocyst ซึ่ง ตัวอ่อนระยะนี้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เจริญเติบโตเป็นเด็ก กับส่วนที่เจริญเป็นรก โดยนักวิทยาศาสตร์จะตัดส่วนที่เจริญเป็นรก เรียกว่า Trophectoderm ประมาณ 5-10 เซลล์เพื่อส่งตรวจ

สิ่งที่เราจะรู้จากการตรวจโครโมโซม คือ จำนวนของโครโมโซมว่าปกติไหม ดูโรคธาลัสซีเมีย โรคดาวน์ซินโดรม แต่เทคโนโลยีการตรวจโครโมโซมในปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจโรคได้ครบทุกโรค แต่หลายโรคที่สำคัญทางพันธุกรรมก็สามารถตรวจพบได้ ในการตรวจโครโมโซมนี้ และสิ่งที่เราจะรู้เพิ่มเติมจากการตรวจโครโมโซม คือ "เพศ"

8. การเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก

การเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก คือ การเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมรองรับการฝังตัว โดยความหนาของผนังมดลูกที่เหมาะสม ต้องหนาไม่น้อยกว่า 7-8 มิลลิเมตร และไม่หนาไปมากกว่า 14 มิลลิเมตร

นอกจากความหนาของผนังมดลูกที่เหมาะสม ลักษณะของมดลูกที่เหมาะสมคือ ต้องมีผิวเรียบ มีการเรียงตัว 3 ชั้น (Triple lines)

สำหรับการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก มี 2 วิธีที่ได้รับความนิยม คือ การเตรียมรอบธรรมชาติ การเตรียมด้วยรอบยาฮอร์โมน

  • การเตรียมรอบธรรมชาติ คนไข้จะต้องมีรอบประจำเดือนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอถึงจะทำได้ และจะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจค่อนข้างบ่อย จึงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า
  • การเตรียมด้วยรอบฮอร์โมน วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีข้อดี คือ สะดวกและสามารถควบคุมได้ง่าย

9. ขั้นตอนในการย้ายตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก มีลักษณะใกล้เคียงกับการตรวจภายใน จะมีการใช้สายขนาดเล็กดูดตัวอ่อน และนำเข้าทางปากมดลูกเพื่อไปไว้บนเยื่อบุโพรงมดลูก โดยใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวค้นหาตำแหน่งที่ดีที่สุดในการวาง

การย้ายตัวอ่อนแบ่งออกเป็น รอบสดและรอบแช่แข็ง โดยการย้ายตัวอ่อนรอบสด คือ หลังจากได้ตัวอ่อนระยะ Day 5 (Blastocyst) แล้วมีการนัดคนไข้ เพื่อนำตัวอ่อนกลับไปฝังในโพรงมดลูกเลย

วิธีการย้ายตัวอ่อนรอบสดไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะมีหลักการเชื่อว่าร่างกายของผู้หญิงที่เพิ่งได้รับกระตุ้นด้วยยากระตุ้นไข่อย่างหนักหน่วงอาจทำให้ยังไม่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจโครโมโซม ซึ่งถ้าคนไข้เลือกตรวจโครโมโซมก็ต้องใช้วิธีย้ายในรอบแช่แข็งไปโดยปริยาย

ปัจจุบันวิธีการย้ายตัวอ่อนในรอบสด ยังคงมีใช้อยู่บางกรณี เช่น ได้ตัวอ่อนที่น้อยมากและไม่แข็งแรง ตัวอ่อนมีความเสี่ยงในการตายสูง แพทย์จะใช้วิธีนี้เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดของตัวอ่อน

สำหรับการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง เป็นที่นิยมมากให้ปัจจุบันโดยเฉพาะในกระบวนการทำ ICSI เพราะมีรายงานถึงอัตราความสำเร็จมากกว่ารอบสด โดยผู้หญิงมีเวลาในการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน

ระหว่างการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก ตัวอ่อนจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนในไนโตรเจนเหลว อุณหภูมิลบ 190 กว่าองศา ซึ่งสามารถรักษาสภาพได้ เมื่อถึงเวลาจะย้ายตัวอ่อน นักวิทยาศาสตร์จะนำตัวอ่อนมาละลายก่อนนำไปใช้

หลังย้ายตัวอ่อนเข้าฝังในมดลูกประมาณ 7-14 วัน แพทย์จะนัดเจาะเลือด ตรวจค่า HCG (Human Chorionic Gonadotropin) เพื่อดูการตั้งครรภ์

ถ้าผลตรวจค่า HCG ไม่ขึ้น จะถือว่าการฝังตัวอ่อนไม่สำเร็จ แต่ถ้าค่า HCG ขึ้น แพทย์จะนัดมาตรวจติดตามเป็นระยะรวมถึงการอัลตราซาวด์ดูการเจริญเติบโตและความปกติของเด็ก

ค่า HCG ที่มีแนวโน้มว่าเกิดการตั้งครรภ์คือ 25 โดยทั่วไปหากย้ายตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกแล้วผ่านไป 7 วัน ค่า HCG จะอยู่ที่ 30 แม้ว่าจะตรวจได้ค่าตามที่กล่าวไปการติดตามก็ยังต้องทำเป็นระยะ และไม่ได้แปลว่าการตั้งครรภ์สมบูรณ์ เพราะภาวะแท้งสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่คนไข้มีฮอร์โมนต่ำมากๆ

หากค่า HCG สูง แต่ตรวจไม่พบตัวเด็กในโพรงมดลูกจะต้องมีการเช็กว่าเป็นการท้องนอกมดลูกหรือไม่ หากค่า HCG สูงมากผิดปกติแพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าเป็นเด็กแฝดหรือไม่

การย้ายตัวอ่อนเป็นหัตถการที่ทำแล้ว มักจะไม่มีอาการใดๆ ข้างเคียง ไม่อันตราย และพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อยมาก

สำหรับไข่ สเปิร์ม และตัวอ่อนที่เหลือจากกระบวนการทำ ICSI สามารถที่จะเก็บไว้เพื่อใช้ในครั้งต่อไปได้ด้วยการแช่แข็ง

สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีบุตรยาก หรือเคยผ่านกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วแบบ IVF มาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ สนใจการทำเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI กับหมอปอนด์ สามารถเข้ามารับการปรึกษาแก้ปัญหาการมีบุตรยากได้ที่ HDcare

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการรักษาที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใด ในโรงพยาบาลหรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

บทความที่แนะนำ

@‌hdcoth line chat