ผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ กับ นายแพทย์สุทธิเกียรติ จรดล ด้วยบริการจาก HDcare


HDcare สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • ผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ คือ ตัดส่วนกระพุ้งกระเพาะอาหาร (Fundus) ออก 80% โดยตัดส่วนที่หลั่งฮอร์โมนความหิวออกไปด้วย การควบคุมน้ำหนักจึงทำได้ดีในระยะยาว
  • ผ่าตัดกระเพาะ นอกจากรักษาโรคอ้วนยังสามารถรักษาโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคข้อเข่าเสื่อม โรคถุงน้ํารังไข่
  • การตัดกระเพาะส่วนใหญ่ด้วยการส่องกล้อง ทำง่าย แผลเล็ก ฟื้นตัวไว มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และภาวะพร่องวิตามินน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิธีอื่น
  • หลังจากผ่าตัดกระเพาะ โดยทั่วไป 1 เดือนแรก น้ําหนักจะลดลง 10% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด และลดลง 40-50% ภายใน 1-2 ปี
  • บทความนี้ได้รับการสปอนเซอร์จาก HDcare ศูนย์รวมการผ่าตัดโดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ จาก HDmall.co.th แพทย์ผู้ให้ข้อมูลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณา

“โรคอ้วน” คนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องเป็นคนที่นำ้หนักมากจริงๆ เช่น คนที่มีนำ้หนักเกิน 100 กิโลกรัม แต่ในความเป็นจริง “อ้วน” หรือไม่ ทางการแพทย์จะวัดจากค่า BMI และข้อบ่งชี้โรคร่วม

การรักษาโรคอ้วนทำได้หลายวิธี เช่น การออกกําลังกาย ควบคุมอาหาร การใช้ยาฉีดหรือยากิน แต่วิธีหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก คือ “การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน”

นายแพทย์สุทธิเกียรติ จรดล หรือหมอเบิ้ล แพทย์เฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง และผ่าตัดรักษาโรคอ้วน หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการของ HDcare จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ "การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่" อย่างละเอียด

อ่านประวัติของหมอด้วงได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเบิ้ล” ผู้เปลี่ยนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง]

ทำไมถึงควรเลือกปรึกษาหมอและผ่าตัดกับ HDcare:

ขยาย

ปิด

  • เลือกปรึกษาคุณหมอที่มีประสบการณ์ได้หลายคน หลายครั้ง ทั้งแบบออนไลน์และที่ รพ. จนคุณมั่นใจ
  • เช็กความคุ้มครอง พร้อมให้คำแนะนำเรื่องประกันสุขภาพ หรือจะเลือกผ่อน 0% ก็ได้ ให้คุณได้รีบรักษาให้สบายใจ
  • เลือกผ่าตัดได้ที่ รพ. หลายแห่งทั่วกรุงเทพ อุ่นใจมีพยาบาลผู้ช่วยจาก HDcare ดูแลคุณในวันผ่าตัดถึงที่ รพ.
  • ดูรายการผ่าตัดทั้งหมดจาก HDcare ได้ที่นี่

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ คืออะไร?

การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ (Sleeve Gastrectomy) คือ การตัดกระพุ้งของกระเพาะอาหา (Fundus) ออกไปประมาณ 80% กระเพาะส่วนนี้มีความสำคัญเพราะเป็นส่วนที่ยืดขยายเวลาที่เรากินอาหารเข้าไป และเป็นส่วนที่หลั่งฮอร์โมนส่งผลต่อความหิวออกมามากที่สุด (ฮอร์โมนเกรลิน-Ghrelin Hormone)

เมื่อตัดกระเพาะส่วนนี้ออกไป 80% จึงได้ผลสองทาง คือ ลดปริมาณอาหารที่สามารถกินได้ต่อมื้อ และลดฮอร์โมนที่ส่งผลต่อความหิวลง หลังการผ่าตัดคนไข้จะหิวน้อยลงและอิ่มเร็วขึ้น การควบคุมน้ำหนักจึงได้ผลดี

การผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่ ทําได้ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อนใช้เวลาในการผ่าตัดค่อนข้างน้อย มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและภาวะพร่องสารอาหารหลังผ่าตัดได้น้อย เมื่อเทียบกับวิธีอื่น

ผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ ต้องตัดออกเท่าไหร่?

กระเพาะของคนเราส่วนใหญ่ มีความจุประมาณ 1 ลิตร หรือ 1.2 ลิตร การตัดกระเพาะส่วนใหญ่จะตัดออก 80-85% หลังผ่าตัดจะเหลือกระเพาะอาหารความจุประมาณ 150-200 ซีซี

ตัวอย่างเช่น ถ้ากระเพาะของเรา คือแตงโมหรือมะละกอ หลังการผ่าตัดกระเพาะจะลดขนาดเหลือเพียงกล้วยหอมผลใหญ่เท่านั้น

อ้วนระดับไหนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะ?

สําหรับเกณฑ์ของคนไข้ที่จะใช้พิจารณาในการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน จะพิจารณาจาก 2 ส่วนคือ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI : Body Mass Index) และโรคร่วมต่างๆ ที่มีผลมาจากโรคอ้วน

  • ค่า BMI มากกว่า 37.5 ขึ้นไป โดยไม่ต้องมีโรคประจําตัวร่วม
  • ค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 32.5 และมีโรคร่วมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงฯ
  • ค่า BMI มากกว่า 27.5 ขึ้นไป และป่วยเป็นโรคเบาหวานรุนแรง ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาทั่วไป

คำนวณค่าดัชนีมวลกายได้ที่นี่ 

การผ่าตัดกระเพาะจริงๆ แล้ว จะขึ้นอยู่กับส่วนสูงด้วย แม้ว่าจะไม่ได้สูงมาก เช่น สูงประมาณ 150-160 เซนติเมตร น้ำหนักอาจจะแค่ประมาณ 100 กิโลกรัม ก็สามารถผ่าตัดได้

บางคนถ้ามีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน น้ําหนักอาจจะแค่ประมาณ 90 กิโลกรัม ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่าตัดได้

ก่อนผ่าตัดกระเพาะ ต้องตรวจเช็กอะไรบ้าง?

ก่อนผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ ต้องตรวจเช็กสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด โดยจะต้องตรวจเช็กหาโรคต้องห้าม โรคที่มีข้อห้ามในการผ่าตัดใหญ่ ที่ต้องดมยาสลบหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ระหว่างผ่าตัด เช่น โรคหัวใจที่ควบคุมไม่ได้ โรคหัวใจชนิดรุนแรง หรือเป็นโรคปอดชนิดรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถผ่าตัดกระเพาะได้

นอกจากนี้ยังต้องตรวจเช็กสุขภาพความพร้อมร่างกาย เช่น การชั่งน้ำหนัก การวัดส่วนสูง การวัดสัญญาณชีพ การตรวจหาโรคร่วมต่างๆ การตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ดูระดับน้ำตาลในเลือด ระดับเกลือแร่ต่างๆ

กรณีที่คนไข้มีอายุมาก ต้องตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจอัลตราซาวด์ ในคนไข้รายที่อ้วนมาก ต้องตรวจตับและถุงน้ำดี เพราะว่าคนไข้ภาวะอ้วนส่วนใหญ่ มักจะมีโอกาสเป็นภาวะไขมันพอกตับ หรือนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนปกติ รวมไปถึงการส่องกล้อง เข้าไปทางปาก เพื่อตรวจดูกระเพาะอาหาร

และจะต้องตรวจเช็กคนไข้ว่ามีความตั้งใจและความรู้ความเข้าใจเรื่องการผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วนมากน้อยแค่ไหนเพราะหลังผ่าตัดคนไข้ต้องปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย ค่อนข้างมาก

เป็นกรดไหลย้อน ผ่าตัดกระเพาะได้ไหม?

“ภาวะกรดไหลย้อน” ถือว่าเป็นข้อห้ามที่ไม่ควรผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่ เพราะหลังการผ่าตัด กระเพาะอาหารจะมีขนาดเล็กลง แรงดันในกระเพาะสูงขึ้น ทําให้มีโอกาสเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้มากกว่าปกติอยู่

สำหรับคนไข้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน แนะนําให้ผ่าตัดด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การผ่าตัดแบบบายพาส (Laparoscopic Gastric Bypass)

มีแผลในกระเพาะอาหาร ผ่าตัดได้ไหม?

คนไข้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ กรณีที่ไม่ได้เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ต้องรักษาอาการอักเสบเหล่านั้นให้หายดีก่อนเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะ

ผ่าตัดกระเพาะ รักษามะเร็งกระเพาะอาหารได้ไหม?

การผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่จะตัดเพียงกระเพาะบางส่วนออกไปเท่านั้น ต่างจากการผ่าตัดมะเร็งที่นอกจากจะตัดเนื้อเยื่อส่วนที่มีปัญหาออกไปแล้ว ยังเลาะเนื้อเยื่อต่อมน้ําเหลืองโดยรอบออกไปด้วย

ดังนั้นเทคนิคการผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่ ไม่เพียงพอสำหรับการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ถ้าคนไข้รักษามะเร็งจนหายดี ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่เพื่อรักษาโรคอ้วนได้

อายุที่เหมาะสมในการผ่าตัดกระเพาะ

การผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่ ควรเริ่มต้นที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ และมีวิจารณญาณในการรับรู้ เข้าใจในการรักษาสุขภาพของตนเอง

เพราะหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารอาจจะทำให้คนไข้เกิดภาวะพร่องสารอาหาร เช่น แคลเซียม วิตามินบี 2 หรือ ธาตุเหล็ก ถ้าผ่าตัดในคนไข้ที่อายุต่ำกว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต

ส่วนคนไข้ที่อายุมากกว่า 65 ขึ้นไป ไม่ถือเป็นข้อห้าม แต่ไม่แนะนำให้ผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ และความจำเป็นของคนไข้โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

ผ่าตัดกระเพาะทำได้กี่วิธี?

  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่แบบเปิดหน้าท้อง ปัจจุบันยังคงมีการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ในบางกรณี แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม
  • การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ด้วยการส่องกล้อง ด้วยความพร้อมของอุปกรณ์ที่ทันสมัยเรียกได้ว่าเกือบจะ 100% ของการผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่ ในปัจจุบันนิยมใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ด้วยวิธีนี้ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก คนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดกระเพาะ

  • คนไข้ต้องงดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัด
  • ก่อนการผ่าตัด 8 ชั่วโมง พยาบาลจะฉีดยาเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
  • ทีมพยาบาลและวิสัญญีแพทย์ ทําการสอบทานชื่อของคนไข้อีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าผ่าตัดถูกคนและถูกโรค จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะทำให้คนไข้หลับเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ โดยระหว่างการผ่าตัดคนไข้จะไม่รู้สึกตัว

ขั้นตอนการผ่าตัดกระเพาะด้วยการส่องกล้อง

  • การผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่ด้วยการส่องกล้อง แพทย์จะเจาะรู จำนวน 5 รู ที่ผนังหน้าท้อง
  • ขนาด 1 เซนติเมตร 1 รู สำหรับใส่กล้องเข้าไปส่องสภาพช่องท้องคนไข้
  • ขนาด 2 เซนติเมตร 1 รู สำหรับการนำกระเพาะที่ตัดออกมาจากตัวคนไข้
  • ขนาด 0.5 เซนติเมตร 3 รู สำหรับใส่เครื่องมือในการผ่าตัด เช่น อุปกรณ์ยกตับ เครื่องมือในการตัดเย็บกระเพาะ เครื่องมือในการจับเนื้อเยื่อต่างๆ
  • แพทย์จะตัดกระเพาะตามที่ได้วางแผนไว้ หลังจากนำกระเพาะออกมา จะทำการปิดแผล

โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดกระเพาะส่วนใหญ่ด้วยการส่องกล้องจะใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง หลังจากผ่าตัดเสร็จ เมื่อคนไข้ก็จะรู้สึกตัวก็สามารถเอาท่อช่วยหายใจออกและกลับห้องพักฟื้นได้

เครื่องมือตัดกระเพาะเป็นแบบอัตโนมัติ ตัด-เย็บได้พร้อมกัน

เครื่องมือตัดกระเพาะได้รับการพัฒนาไปมาก หลักการทำงานของเครื่องมือในปัจจุบัน คือ มีปากคีบเข้าไปคีบเนื้อเยื่อกระเพาะอาหาร เมื่อกดปุ่มและเลื่อนเครื่องมือจะทำงานอัตโนมัติเย็บและตัด ตามแนวกระเพาะอาหารที่เลื่อนไป แยกกระเพาะอาหารออกเป็น 2 ส่วน โดยที่แพทย์ไม่จำเป็นต้องทำการเย็บเอง

ตัวเย็บลักษณะจะเหมือนแม็กเย็บกระดาษ แต่วัสดุเป็นไทเทเนียมทางการแพทย์ โดยเครื่องสามารถคำนวณความสูงของแม็กที่ต้องใช้ให้เหมาะสม กับความหนาของเนื้อเยื่อคนไข้ได้ด้วย นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยให้การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ทำได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว

หลังผ่าตัดกระเพาะ ต้องพักฟื้นกี่วัน

การพักฟื้นหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะต้องพักที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 คืน

หลังออกจากโรงพยาบาลสามารถทํากิจวัตรประจําวันทุกอย่างได้ปกติ งดการออกกําลังกายหนัก เช่น การยกน้ําหนัก หรือวิ่งระยะไกล ประมาณ 2 อาทิตย์ ถึง 1 เดือน เพื่อลดการกระทบกระเทือนของบาดแผล

สำหรับแผลผ่าตัดเป็นแผลที่ค่อนข้างสะอาด คนไข้ไม่ต้องทําแผลทุกวัน พลาสเตอร์ที่ปิดแผลเป็นแบบกันน้ํา จะสามารถเปิดออกได้หลังจากผ่าตัดครบ 7 วัน

หลังผ่าตัดกระเพาะ แพทย์นัดติดตามผลบ่อยแค่ไหน?

หลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ถ้าคนไข้สะดวกเข้ารับการรักษาได้อย่างเต็มที่ แพทย์จะนัดมาตรวจเช็กในช่วง 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด และ 1 เดือนหลังผ่าตัด

หากไม่มีอาการผิดปกติจะนัดติดตามในช่วง 3 เดือนและ 6 เดือนหลังผ่าตัด หลังจากนั้นจะนัดเจอปีละครั้ง เพื่อเช็กสุขภาพโดยรวม การลดน้ําหนัก ภาวะของการพร่องสารอาหาร หรือการมารับวิตามินเสริม

หลังผ่าตัดกระเพาะ คนไข้มีโอกาสเกิดภาวะเสี่ยงอะไรบ้าง?

ภาวะไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร คือ การคลื่นไส้อาเจียน เกิดจากการกินอาหารไม่ถูกวิธี เช่น ดื่มน้ําก่อนอาหาร ดื่มน้ําระหว่างมื้ออาหาร กินอาหารปริมาณมากเกินไป อิ่ม จุก ฝืนกินต่อ การอาเจียน

บ่อยครั้งนำไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อ มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด รอยตัดเย็บในกระเพาะอาหารอาจจะมีเลือดออก หรือมีภาวะรั่วซึมได้

หลังผ่าตัดกระเพาะ น้ําหนักจะลดลงเท่าไหร่?

การลดลงของน้ำหนักหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะนับเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดกระเพาะอาหารจะลดน้ำหนักได้โดยประมาณดังนี้

  • ใน 1 เดือนหลังผ่าตัด น้ำหนักจะลดลงประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด
  • ใน 3 เดือนหลังผ่าตัด น้ำหนักจะลดลงประมาณ 20% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด
  • ใน 6 เดือนหลังผ่าตัด น้ำหนักจะลดลงประมาณ 30% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด
  • ใน 1-2 ปี หลังผ่าตัด น้ำหนักจะลดลงประมาณ 40-50% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด

ใน 1-2 ปีแรกเป็นช่วงที่น้ำหนักลดได้ถึงจุดสูงสุด หลังจากนี้น้ำหนักจะลดลงค่อนข้างน้อย แต่นำ้หนักจะคงที่ต่อไปภายใต้การควบคุมอาหารและออกกำลังกายของคนไข้เป็นสำคัญ

หลังผ่าตัดกระเพาะกินอะไรได้บ้าง?

ตัวอย่างอาหารที่คนไข้จะได้กินหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร (ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์แต่ละท่าน)

  • วันที่ 1 ดื่มน้ำหวานที่ไม่ใส่น้ำตาล เช่น น้ำสมุนไพร น้ำซุปเหลวใส
  • วันที่ 2 อาหารประเภทนมทางการแพทย์ หรือ โจ๊กบดละเอียด
  • วันที่ 3 กินเป็นอาหารอ่อน เช่น ปลานึ่ง อกไก่ต้ม หรือเต้าหู้

หลังออกจากโรงพยาบาล แนะนำกินอาหารได้ตามปกติ แต่ควรแบ่งมื้ออาหารออกเป็น 4-5 มื้อต่อวัน และลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง

เนื่องจากกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง ระวังอย่าให้อิ่มจนอาเจียน และเน้นกินอาหารประเภทโปรตีนและดื่มน้ำให้เพียงพอ

โดยหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารไปแล้ว ควรกินอาหารประเภทโปรตีนให้มาก เพราะโปรตีนเป็นสารอาหารที่มีบทบาทหลักในการซ่อมแซมแผลทั้งภายในและภายนอกร่างกาย หากกินโปรตีนได้ไม่เพียงพอจะทำให้แผลหายช้าและเกิดอาการผมร่วง

จุดประสงค์ของการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน คือการลดน้ำหนัก ถ้าคนไข้กินโปรตีนไม่เพียงพอ มวลกล้ามเนื้อจะลดลง เมื่อมวลกล้ามเนื้อลดลง การเผาผลาญพลังงานก็จะลดลง และจะทำให้การลดน้ำหนักทำได้ไม่ดี

หลังผ่าตัดกระเพาะควรกินโปรตีนวันละเท่าไหร่?

โปรตีนที่แนะนำให้บริโภค คือ 60-90 กรัมต่อวัน คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด เพราะปริมาณโปรตีนที่แนะนำ คือสารอาหารที่ชื่อว่า “โปรตีน” ไม่ใช่ปริมาณอาหารโปรตีนที่กินเข้าไป เช่น กินเนื้อหมู 100 กรัม ไม่ใช่จะได้โปรตีนทั้งหมด 100 กรัม เพราะในเนื้อหมูมีส่วนประกอบอย่างอื่นด้วย

โปรตีนธรรมชาติ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว อาหารทะเลต่างๆ ไข่ไก่ หรือเต้าหู้ สามารถกินได้ปกติ แต่คนไข้ต้องเทียบปริมาณสัดส่วนของโปรตีนให้ร่างกายได้รับเพียงพอตามคำแนะนำ

กลุ่มถัดมาคือกลุ่มโปรตีนสำเร็จรูป เช่น เวย์โปรตีน นมที่ให้โปรตีนสูง อาหารเสริมทางการแพทย์ ก็มีหลากหลายยี่ห้อ กินง่าย สะดวก มีการระบุสัดส่วนโปรตีนชัดเจนที่ฉลาก เช่น นม 100-200 cc มีโปรตีน 10-20 กรัม ซึ่งทำให้ง่ายต่อการคำนวณ ซึ่งคนไข้อาจจะกินควบคู่กันได้กัน

หลังผ่าตัดกระเพาะควรดื่มน้ำวันละเท่าไหร่?

หลังการผ่าตัดกระเพาะ คนไข้ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1.2 ลิตร เพื่อช่วยการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ช่วยในการขับถ่าย

ไม่ต้องกังวลว่ากระเพาะอาหารเล็กลงแล้วจะต้องเข้าห้องน้ำบ่อย เพราะหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร กลไกการทำงานการสร้างปัสสาวะยังเป็นปกติไม่ต่างกับคนทั่วไป

การดื่มน้ำควรเว้นการดื่มน้ำในช่วง 30 นาที ก่อนและหลังมื้ออาหาร และไม่ดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร เพราะกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง หากดื่มน้ํามากเกินไปจะทำให้อิ่ม กินอาหารได้น้อยลง ทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อหาย การลดน้ำหนักทำได้ไม่ดี และมีอาการผมร่วง

หลังผ่าตัดกระเพาะ ต้องกินวิตามินตลอดชีวิตจริงไหม?

เป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะการผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะพร่องสารอาหารน้อยเมื่อเทียบกับวิธีผ่าตัดอื่นๆ

ตามข้อมูลทางวิชาการแนะนำว่า หลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร แนะนำให้กินวิตามินบางตัวเสริมตลอดชีวิต เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือวิตามินบี เพราะกระเพาะอาหารของคนไข้ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว

แต่ตามคนไข้จริงหลังจากได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วนไปหลายปี เมื่อเจาะเลือดดู ปริมาณสารอาหารหรือวิตามินในคนไข้บางราย พบว่าไม่มีภาวะพร่องวิตามิน เนื่องจากร่างกายปรับตัวได้ดี ก็ลดการกินวิตามินเหล่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ที่ดูแล

ขณะที่คนไข้บางรายกลับมีภาวะพร่องวิตามินบางตัว ชนิดที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการกิน ต้องใช้วิธีการฉีดให้ทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน

หลังผ่าตัดกระเพาะ ดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟได้ไหม?

ไม่มีข้อมูลที่ระบุชัดเจนว่าหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลเสียอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ คนไข้สามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ควรดื่มในปริมาณเล็กน้อยต่อวัน

ในส่วนของกาแฟสามารถดื่มได้ แต่แนะนำเป็นกาแฟดำที่ไม่ใส่น้ำตาลเพื่อการลดน้ำหนักที่ได้ผลดี

หลังผ่าตัดกระเพาะ ยกของหนักได้ไหม?

คนไข้ที่ผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีการส่องกล้อง ควรงดการยกของหนัก (หนักเกิน10กิโลกรัม) หรือการออกกำลังกายหักโหม หลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน

หลังผ่าตัดกระเพาะ กระเพาะจะยืดขยายได้อีกไหม?

การยืดขยายของกระเพาะอาหารหลังการผ่าตัด คือส่วนหนึ่งที่ทำให้การผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้

ส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนไข้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ เช่น กินอาหารครั้งละมากๆ จนอิ่มจุก ทำให้กระเพาะยืดขยาย แม้ว่าจะไม่ได้ขยายกลับมามีขนาดใหญ่เท่าเดิมก่อนผ่าตัด แต่ก็ขยายมากพอที่จะทำให้การลดน้ำหนักล้มเหลว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับคนไข้ทุกราย

ผ่าตัดกระเพาะอาหารครั้งแรก ดีกว่าการทำครั้งที่ 2 จริงไหม?

การผ่าตัดครั้งแรกดีที่สุดเสมอ เนื้อเยื่อต่างๆ หลังจากการผ่าตัดครั้งแรกไปแล้ว ความแข็งแรง ความสมบูรณ์ จะไม่สามารถกลับมาได้ 100% เหมือนเนื้อเยื่อที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดได้

การผ่าตัดซ้ำรอบที่ 2 หรือ 3 มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น เช่น แผลผ่าตัดมีปัญหา มีเลือดออก มีการรั่วซึม หรืออาจจะเกิดภาวะกระเพาะยืดขยายได้ง่ายกว่าปกติ

การผ่าตัดกระเพาะกับการรักษาโรคอื่นๆ

การผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่เพื่อรักษาโรคอ้วน นอกจากน้ำหนักตัวจะลดลงแล้ว โรคร่วมอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนก็จะบรรเทาลงได้ เช่น เบาหวาน ความดัน คนไข้ที่มีปัญหาจากน้ำหนักตัว ข้อเข่าเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้น กระดูกสันหลังเสื่อม รวมไปถึงภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) มักพบในผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน สิ่งที่ตามมาคือ การมีประจำเดือนผิดปกติ และการมีบุตรยาก หลังจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารคนไข้บางรายก็สามารถกลับมามีบุตรได้

โรคเบาหวานชนิดที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด มีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน ถ้าลดน้ำหนักได้ ภาวะดื้อต่ออินซูลินก็จะดีขึ้น การผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่ใช่แค่ตัดพื้นที่เก็บอาหาร แต่ตัดส่วนที่หลั่งฮอร์โมนควบคุมความหิวออกไปด้วย จึงทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้ดี

ผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ กับ นพ. สุทธิเกียรติ ด้วยบริการจาก HDcare

สําหรับคนที่มีปัญหาเรื่องของน้ําหนักตัวโรคอ้วน หรือว่ามีโรคประจําตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะถุงน้ํารังไข่ หรือปัญหาด้านกระดูกที่เกิดจากความอ้วน

ทำไมถึงควรเลือกปรึกษาหมอและผ่าตัดกับ HDcare:

ขยาย

ปิด

  • เลือกปรึกษาคุณหมอที่มีประสบการณ์ได้หลายคน หลายครั้ง ทั้งแบบออนไลน์และที่ รพ. จนคุณมั่นใจ
  • เช็กความคุ้มครอง พร้อมให้คำแนะนำเรื่องประกันสุขภาพ หรือจะเลือกผ่อน 0% ก็ได้ ให้คุณได้รีบรักษาให้สบายใจ
  • เลือกผ่าตัดได้ที่ รพ. หลายแห่งทั่วกรุงเทพ อุ่นใจมีพยาบาลผู้ช่วยจาก HDcare ดูแลคุณในวันผ่าตัดถึงที่ รพ.
  • ดูรายการผ่าตัดทั้งหมดจาก HDcare ได้ที่นี่

หากต้องการปรึกษาเรื่องการผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่เพื่อลดน้ําหนัก สามารถทักสอบถามข้อมูลกับทาง HDcare ทางทีมจะประสานงานนัดหมายกับทางคุณหมอ เพื่อให้คนไข้เข้ารับการตรวจวินิจฉัย รวมถึงการให้คําแนะนําที่ถูกต้องในการรักษา

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

บทความที่แนะนำ

@‌hdcoth line chat