มันฝรั่ง ข้อมูล พลังงาน สารอาหาร ข้อควรระวังการบริโภค


มันฝรั่ง ข้อมูล พลังงาน

มันฝรั่ง เป็นพืชหัวที่ทั่วโลกนิยมนำมาบริโภค อุดมด้วยสารอาหารที่มีคุณค่า นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งประกอบอาหาร และนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป

มันฝรั่งมาจากส่วนไหนของพืช?

มันฝรั่ง ที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ทวีปอเมริกา เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีขนอ่อน ความสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ลำต้นมันฝรั่งมีลักษณะกลวงเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบเป็นใบประกอบขนนกปลายคี่ ใบออกเรียงสลับ ดอกมีสีขาว ชมพู ม่วงอ่อน และม่วงเข้ม ตามสายพันธุ์ มีหัวใต้ดิน หัวมันฝรั่งนี้เองเป็นส่วนที่ผู้คนนำมาบริโภค

หัวมันฝรั่งเกิดจากลำต้นใต้ดินที่ขยายตัวให้มีขนาดใหญ่เพื่อเก็บสารอาหารและขยายพันธุ์ หัวมันฝรั่งมีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2 - 4 นิ้ว ผิวเรียบมีสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน สีม่วงอ่อน ตามสายพันธุ์ มีตาเป็นเกล็ดอยู่รอบๆ

ส่วนตาของมันฝรั่งสามารถแตกกิ่งออกเพื่อเป็นต้นใหม่ได้

มันฝรั่งให้พลังงานเท่าไร?

มันฝรั่งต้มสุก 100 กรัม (2/3 ถ้วย) ให้พลังงาน 87 Kcal ประกอบด้วย

  • โปรตีน 1.9 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 20.1 กรัม
  • น้ำตาล 0.9 กรัม
  • ใยอาหาร 1.8 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • วิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินซี วิตามินบี 6 โพแทสเซียม โฟเลต

คุณประโยชน์ของมันฝรั่ง

มันฝรั่งนับว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำมาต้ม อบ หรือทอด เพื่อรับประทานเป็นอาหารหลักได้

ช่วยให้อิ่มท้องได้นาน ลดความหิวระหว่างมื้อ เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนคุณภาพสูง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งควรเป็นมันฝรั่งต้มหรืออบ และผ่านการปรุงรสน้อยที่สุด

ที่สำคัญคือควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยจากข้อมูลสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ให้รับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ไม่เกิน 300 กรัมต่อวัน เพราะหากรับประทานมากเกินไปจะเกิดการสะสมน้ำตาลและไขมันในประมาณมากจะสามารถทำให้อ้วนได้

ในมันฝรั่งประกอบไปด้วยแร่ธาตุหลากหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมงกานีส สังกะสี ที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน มีโพแทสเซียมที่ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด ช่วยลดระดับความดันโลหิต

นอกจากนี้ยังพบสารโคลิน (Choline) ช่วยเรื่องระบบประสาท สมอง และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

มีโฟเลต ซึ่งเป็นส่วนช่วยการสร้างและซ่อมแซมดีเอนเอ (DNA) ป้องกันการสร้างเซลล์มะเร็ง

ที่สำคัญ ในมันฝรั่งยังมีใยอาหาร วิตามินซี วิตามินบี 6 และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย และระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานดีขึ้น

นอกจากมันฝรั่งจะสามารถนำมาเป็นอาหารได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ภายนอกเพื่อดูแลผิวพรรณได้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซี ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยทำความสะอาด ปกป้อง และบำรุงผิวได้ดี อีกทั้งช่วยลดรอยด่างดำและรอยย่นบนใบหน้า

ปัจจุบันจึงมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากมันฝรั่ง เช่น โลชันมันฝรั่ง มาส์กบำรุงผิว

ข้อควรระวังในการบริโภคมันฝรั่ง

  • มันฝรั่งเป็นพืชที่มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic index: GI) สูง จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะหากรับประทานเข้าไปจะทำให้มีภาวะน้ำตาลสูง
  • มันฝรั่งที่เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีรอยแผลดำ หรือมีรากงอก จะพบสารโซลานีน (Solanine) ซึ่งมีมากในราก เปลือก และตาของมันฝรั่ง เป็นสารที่ทำให้เกิดรสขม และเป็นพิษต่อระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด
  • หากได้รับสารโซลานีนปริมาณน้อยๆ จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หากได้รับปริมาณมากจะส่งผลต่อระบบประสาทให้ทำงานผิดปกติ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีไข้ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • มีรายงานจากงานวิจัยว่า ระดับโซลานีนที่เป็นพิษนั้น คือ มากกว่า 55 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมขึ้นไป แต่โดยทั่วไป ในหัวมันฝรั่งจะพบโซลานีนไม่เกิน 5-8 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย และโซลานีนสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน เช่น การต้ม อบ ทอด
  • นอกจากนี้ในมันฝรั่งที่ถูกปรุงให้สุกด้วยความร้อนสูงกว่า 120 องศาเซลเซียส จะเกิดสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) เป็นสารที่จะพบในกาว พลาสติก ควันบุหรี่ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยอะคริลาไมด์ (Acrylamide) มักพบใน มันฝรั่งทอดกรอบ (Potato chips) เฟรนช์ฟรายส์ (French fries)

จะเห็นได้ว่า มันฝรั่งเป็นพืชที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากรับประทานปริมาณมากเกินก็สามารถเกิดโทษ ผู้บริโภคจึงต้องพิจารณาความเหมาะสม จากภาวะสุขภาพร่างกาย โรคและความเจ็บป่วย ที่อาจเป็นข้อจำกัดในการรับประทานมันฝรั่ง


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจเบาหวาน


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat