กระเจี๊ยบ ข้อมูล สรรพคุณ ข้อควรระวัง วิธีใช้เพื่อสุขภาพ


กระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบ เป็นพืชล้มลุกปีเดียว ปลูกง่าย ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยมักปลูกกันตามบ้านเรือน มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งมีสีม่วงแดง ใบมีหลายใบ ขอบใบเรียบ บางครั้งมีหยัก 3-5 หยัก ใบกว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-15 เซนติเมตร ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีชมพูแดง เกสรดอกไม้สีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเป็นผลแห้งแตก กลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มอยู่ด้านนอกของดอก

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L.
  • ชื่อวงศ์ MALVACEAE
  • ชื่ออังกฤษ Jamaica sorrel, Red Sorrel, Roselle
  • ชื่อท้องถิ่น กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเปรี้ยว ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง ส้มปู

หมายเหตุ : ที่กล่าวถึงในบทความนี้คือ กระเจี๊ยบแดง เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับกระเจี๊ยบมอญ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus (L.) Moench

คุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบแดง

กลีบดอก ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 49 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 11.31 กรัม
  • ไขมัน 0.64 กรัม
  • โปรตีน 0.96 กรัม
  • วิตามินเอ 14 ไมโครกรัม 2%
  • วิตามินบี 1 0.011 มิลลิกรัม 1%
  • วิตามินบี 2 0.028 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 3 0.31 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินซี 12 มิลลิกรัม 14%
  • ธาตุแคลเซียม 215 มิลลิกรัม 22%
  • ธาตุเหล็ก 1.48 มิลลิกรัม 11%
  • ธาตุแมกนีเซียม 51 มิลลิกรัม 14%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 37 มิลลิกรัม 5%
  • ธาตุโพแทสเซียม 208 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุโซเดียม 6 มิลลิกรัม 0%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง

ส่วนต่างๆ ของกระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณดังนี้

  • ใบและกลีบเลี้ยง มีรสเปรี้ยว มีสรรพคุณขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับน้ำดี ขับนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ รักษาอาการท้องผูก
  • ส่วนกลีบเลี้ยงมีสรรพคุณแก้กระหายน้ำ ขับเมือกมันในลำไส้
  • ผล มีรสจืด ช่วยแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • ทางการแพทย์พื้นบ้านของชาวอียิปต์มีการใช้ทั้งต้นมาต้มกินเพื่อช่วยในรักษาโรคหัวใจและความดันโลหิต เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ

แนวทางการใช้กระเจี๊ยบในการรักษาโรค

กระเจี๊ยบมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการท้องผูก ไอ มีเสมหะ ปัสสาวะแสบขัด นิ่วในไต เป็นแผลในกระเพาะอาหาร โดยมีวิธีการดังนี้

  • กรณีมีอาการท้องผูก ให้รับประทานส่วนใบต้มร่วมกับส่วนกลีบเลี้ยงในน้ำเดือด รับประทานก่อนนอนหรือก่อนอาหารเช้า
  • กรณีมีอาการไอและมีเสมหะให้รับประทานส่วนใบต้มร่วมกับส่วนกลีบเลี้ยงในน้ำเดือด รับประทานหลังจากมีอาการ
  • กรณีมีอาการปัสสาวะแสบขัด ให้ทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) มีข้อบ่งใช้คือ นำกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงแห้ง 3 กรัม บดเป็นผง ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว หรือประมาณ 300 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 3 เดือน
  • กรณีใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีข้อบ่งใช้เช่นเดียวกับกรณีมีอาการปัสสาวะแสบขัด ใช้กระเจี๊ยบได้เฉพาะในนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลตและแคลเซียมฟอสเฟตเท่านั้น ส่วนนิ่วชนิดยูเรตหรือกรดยูริกห้ามใช้กระเจี๊ยบ เนื่องจากจะทำให้นิ่วสะสมมากขึ้น
  • กรณีเป็นแผลในกระเพาะอาหารให้นำผลแห้งแล้วบดเป็นผงแช่ในน้ำ รับประทานก่อนอาหารทุกมื้อ

กระเจี๊ยบกับสรรพคุณลดความดันโลหิต

มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงขั้นที่ 1 คือค่าความดันตัวบนอยู่ที่ 140-159 mmHg ค่าความดันตัวล่างอยู่ที่ 90-99 mmHg ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันก่อนเข้าร่วมการทดลองอย่างน้อย 1 เดือน เมื่อให้ดื่มน้ำดอกกระเจี๊ยบแดงวันละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนรับประทานอาหารเช้าทุกวัน เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีค่าความดันโลหิตลดลง และมีผลเทียบเท่ากับผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน สำหรับข้อมูลด้านความปลอดภัย กระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่ถ้ามีการใช้ร่วมกับยาลดความดันแผนปัจจุบันอาจทำให้ความดันลดลงมากเกินไป จึงควรระมัดระวังไม่ใช้ในเวลาเดียวกัน หรือควรเฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

แนวทางการใช้กระเจี๊ยบทำเครื่องดื่มและอาหาร

กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำเดือด ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาลเพียงเล็กน้อย ทำเป็นน้ำดื่ม ปัจจุบันมีการนำกลีบดอกกระเจี๊ยบมาพัฒนาสูตรทำเป็นแยมผลไม้ รับประทานคู่กับขนมปัง ส่วนผลอ่อนนำมาลวกให้สุก สามารถนำมารับประทานคู่กับน้ำพริก หรือใส่ในแกงส้ม

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการกินและใช้กระเจี๊ยบ

  • การรับประทานกระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้องและท้องเสียได้ เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • ควรหลีกเลี่ยงการกินพืชชนิดนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร เนื่องจากผลการศึกษาในหนู พบว่าอาจทำให้ลูกหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าลง
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง เนื่องจาก การรับประทานสมุนไพรใดๆจนเกินขนาด มักเป็นอันตรายต่อไต สำหรับผู้ที่ไตบกพร่องอยู่แล้ว จะยิ่งเป็นอันตรายได้มากขึ้น
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีนิ่วในไต ที่เป็นนิ่วชนิดยูเรตหรือกรดยูริก เพราะจะทำให้นิ่วสะสมมากขึ้น

กระเจี๊ยบช่วยลดน้ำหนัก ได้จริงหรือไม่

มีรายงานว่ากระเจี๊ยบเกี่ยวข้องกับการลดความอ้วนและน้ำหนักส่วนเกิน แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นงานวิจัยในระดับสัตว์ทดลองเท่านั้น โดยพบว่าเมื่อป้อนสารสกัดน้ำของกระเจี๊ยบให้หนูดื่มติดต่อกันนาน 3 เดือน พบว่าน้ำหนักตัวของหนูและระดับคอเลสเตอรอลมีค่าลดลง แต่ยังไม่มีรายงานฤทธิ์ดังกล่าวในระดับคลินิก นอกจากนี้ยังไม่มีรายงานการวิจัยว่าสมุนไพรตัวใดช่วยดักจับไขมันส่วนเกินจากการรับประทานอาหาร ฉะนั้นพืชชนิดนี้จึงอาจเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการลดความอ้วน แต่การลดความอ้วนที่ดีนั้นควรควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้อง จึงจะได้ผลดียิ่งขึ้น

คำแนะนำเรื่องการดื่มน้ำกระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบเป็นสมุนไพรยอดนิยมที่คนรับประทานเป็นน้ำสมุนไพรคลายร้อน ดับกระหาย และยังมีสรรพคุณมากมายดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่การรับประทานเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดคือ การรับประทานในขณะที่ท้องว่าง อาจรับประทานในรูปแบบน้ำดื่มในช่วง 15 - 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร หรือหลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมงก็ได้เช่นกัน ส่วนจะรับประทานเป็นน้ำอุ่นๆหรือแบบเย็น ก็แล้วแต่ชอบได้เลย


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • 12 Amazing Health Benefits Of Roselle - RhymbaHillsTea.com
  • สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ผักพื้นบ้าน .2540
  • วุฒิ วุฒิธรรมเวช. ย่อเภสัชกรรมไทยและสรรพคุณสมุนไพร. 2546.
@‌hdcoth line chat