ขมิ้นชัน คืออะไร แก้อะไรได้บ้าง ข้อมูล สรรพคุณ โทษ


ขมิ้นชัน ข้อมูล สรรพคุณ โทษ

ขมิ้นชัน สมุนไพรที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์หลายด้าน หาซื้อได้ไม่ยาก สีสันสะดุดตา มีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าเหตุใดขมิ้นชันจึงเป็นที่นิยมในการรักษาอาการป่วยๆ หลายชนิด แล้วประโยชน์ที่ได้จากสมุนไพรชนิดนี้มีอะไรบ้าง กินขมิ้นชันทุกวันอันตรายไหม รวมถึงวิธีการใช้ และข้อห้ามข้อควรระวังต่างๆ 

ทำความรู้จักขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน เป็นไม้ล้มลุก ซึ่งนิยมปลูกในประเทศแถบเขตร้อนและเขตอบอุ่นที่มีความชื้นโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสูงของต้นจะอยู่ที่ประมาณ 50-70 เซนติเมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในเหง้ามีสีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองส้ม มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ชอบขึ้นในที่ชื้น ใบเดี่ยวมีลักษณะเป็นรูปหอก ส่วนดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ตัวใบและตัวดอกจะแทงออกจากเหง้าใต้ดิน

ขมิ้นชันมีชื่อสามัญว่า "เทอร์เมอริก (Turmeric)" ซึ่งแปลในภาษาสันสกฤตได้ว่า "สีเหลือง" และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. ถือเป็นพืชอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) มีชื่อท้องถิ่นว่า ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว หรือตายอ 

ในส่วนของการปรุงอาหาร ขมิ้นชันนิยมใช้เป็นเครื่องเทศสำหรับแต่งรสและสีผสมอาหาร โดยถูกใช้ทั้งรูปแบบผงและแบบเหง้า ซึ่งอาหารที่นิยมใส่ขมิ้นชัน ได้แก่ แกงเหลือง ข้าวหมกไก่ แกงกะหรี่ ขนมเบื้องญวน ไก่ทอด แกงไตปลา มัสตาร์ด เนย มาการีน อีกทั้งยังใช้ทำเป็นเครื่องสำอาง หรือเป็นผงขัดผิว

สรรพคุณทางยาของขมิ้นชัน

ขมิ้นชันมีสารสำคัญ 2 กลุ่มที่เป็นสารออกฤทธิ์และเป็นยาทางการแพทย์ได้ ได้แก่

  1. กลุ่มที่ให้สารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid) มีสารออกฤทธิ์หลัก คือ สารเคอร์คูมิน (Curcumin) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เชื้อจุลชีพ สารแบคทีเรียปรสิต ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง บำรุงและรักษาตับจากสารพิษ 
  2. กลุ่มน้ำมันหอมระเหยโมโนเทอร์ปีน (Monoterpene) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี อุดมไปเกลือแร่และวิตามิน ช่วยบำรุงผิวพรณให้ผ่องใสขึ้น

นอกจากสารทั้ง 2 กลุ่มนี้แล้ว แพทย์ยังนิยมใช้ผงขมิ้นชันเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคต่างๆ เช่น รักษาโรคข้ออักเสบ ยาลดกรด ยาขับลม ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ท้องอืดหรือท้องเฟ้อ ยาแก้อักเสบ ยาแก้โรคผิวหนัง 

สรรพคุณทางยาของขมิ้นชันในตำราไทย

ขมิ้นชันเป็นอีกหนึ่งในสมุนไพรโบราณที่คนไทยนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและอาการเจ็บปวดต่างๆ มาอย่างยาวนาน ซึ่งตามตำรายาไทยมักจะใช้ส่วนเหล้านำมาทำเป็นยารักษา โดยส่วนนี้จะมีรสฝาดหวานเอียน แต่มีสรรพคุณรักษาได้ดี ซึ่งขมิ้นชันในตำราไทยจะแบ่งส่วนการรักษาเป็น 2 แบบ

  • แบบใช้ภายในร่างกาย เช่น 
    • ช่วยเจริญอาหาร เป็นยาบำรุงธาตุ 
    • แก้ท้องอืดเฟ้อ อาการแน่นหรือจุกเสียดท้อง 
    • บรรเทาเวลาปวดประจำเดือน หรือเป็นยารักษาเมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ 
    • แก้อาการดีซ่าน 
    • แก้อาการวิงเวียนศีรษะ 
    • รักษาโรคหวัด ลดไข้ แก้เสมหะ 
    • ต้านเชื้อวัณโรค 
    • แก้อาการท้องเสีย
    • ป้องกันโรคหนองใน  
    • เป็นยารักษาเมื่อโรคออกทางปัสสาวะและทวารหนัก 
  • แบบใช้ภายนอกร่างกาย เช่น 
    • ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม 
    • บรรเทาอาการปวดไหล่ แขน ข้อต่อ อาการบวมช้ำ  
    • ช่วยสมานแผลสดและแผลถลอก 
    • ผสมเป็นยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอกได้ 
    • แก้น้ำกัดเท้า 
    • แก้โรคเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น โรคชันนะตุ โรคกลากเกลื้อน มีผื่นคัน เป็นผี 
    • สมานแผลและห้ามเลือดได้ เช่น แผลพุพอง แผลอักเสบจากแมงสัตว์กัดต่อย 
    • ใช้บำรุงรักษาผิวให้ดูดียิ่งขึ้น

สรรพคุณที่น่าสนใจอื่นๆ ของขมิ้นชัน

นอกเหนือจากตำรายาไทยแล้ว ประโยชน์จากขมิ้นชันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีโรคและอาการผิดปกติอีกหลายชนิดที่คุณอาจคาดไม่ถึงและสามารถรักษาได้ด้วยขมิ้นชัน เช่น 

  • ป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์
  • ชะลอและป้องกันโรคพาร์กินสัน
  • ออกฤทธิ์ลดไขมันได้ (Hypolipidaemic)
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • ต้านการเกิดโรคมะเร็งได้อีกหลายชนิด ไม่ใช่แค่โรคมะเร็งผิวหนังเท่านั้น เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร

รูปแบบการรับประทานยาขมิ้นชันในปัจจุบัน

โดยในปัจจุบัน ขมิ้นชันมีการแปรรูปสำหรับการใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น แบบเหง้าสด แบบเหง้าแห้ง แบบผง แบบแคปซูล แบบยาเม็ด แบบยาทาผิวหนัง แบบเครื่องดื่มชาขมิ้นชัน แบบสารสกัด หรือแบบเป็นยาใช้ภายนอก ซึ่งการเลือกรับประทานก็จะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของคุณเองว่า ต้องการบริโภคขมิ้นชันเพื่ออะไร และรูปแบบร่างๆ ก็จะมีวิธีบริโภคที่แตกต่างกัน เช่น

  • รูปแบบรับประทาน: ต้องกลืนไปทั้งเม็ด หรือทั้งแคปซูล 
  • รูปแบบยาผง: ต้องนำไปผสมน้ำก่อนดื่ม และปริมาณการใช้ก็ตามเป็นไปตามที่ฉลากระบุ 
  • รูปแบบยาทาผิวหนัง: ส่วนมากยาทาขมิ้นชันมักจะเป็นยาครีม เจล หรือขี้ผึ้ง โดยก่อนใช้ยา คุณควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ต้องการเสียก่อน จากนั้นให้บีบยาลงไปพอประมาณ แล้วทาบางๆ ให้ยาแผ่ซึมลงใต้ผิวหนัง   

คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)

คุณอาจยังสงสัยวิธีการใช้ขมิ้นชันมาดัดแปลงเป็นยารักษาอาการต่างๆ บางทีคำแนะนำการใช้ยาจากกระทรวงสาธารณสุขต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณเข้าใจวิธีการใช้ขมิ้นชันเป็นยารักษามากขึ้น

  1. ใช้รักษาแมลงกัดต่อย: ใช้ผงขมิ้นชัน 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันหมู 2-3 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ แล้วคนให้เข้ากันจนน้ำมันกลายเป็นสีเหลือง หลังจากนั้นให้ใช้น้ำมันที่ได้ทาลงที่แผล หรืออีกวิธีคือ นำเหง้าขมิ้นชันสดมาตำจนละเอียด แล้วผสมน้ำสารส้ม หรือดินประสิวเพื่อพอกบริเวณแผลก่อน จากนั้นนำเหง้าชิ้นชันสดที่ตำแล้วมาคั้นน้ำใส่แผล 
  2. ใช้รักษาโรคกลากเกลื้อน: ผสมผงขมิ้นกับน้ำ จากนั้นทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน 2 ครั้งต่อวัน
  3. ใช้รักษาอาการท้องเสีย: นำผงขมิ้นชันผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยพอให้ผงยาจับเป็นก้อนได้ จากนั้นปั้นเป็นยาลูกกลอนแล้วรับประทานเวลาหลังอาหาร และก่อนนอน ครั้งละ 3-5 เม็ด หรือรับประทานให้ร่างกายได้ปริมาณผงขมิ้นชัน 1 กรัมต่อวัน

กินขมิ้นชันทุกวัน อันตรายไหม ?

โดยปกติแล้ว ขมิ้นชันถือเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง มักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เสียหายมากนัก สามารถทานได้ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยหรือผู้ใช้ขมิ้นชันบางรายที่เกิดอาการข้างเคียงเช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ เวียนหัว ท้องเสีย บางคนกังวลว่าจะมีปริมาณวิตามินสะสมมากเกินไปหรือกังวลว่าอาจตัวเหลืองได้

ดังนั้น ทางที่ดี คุณจึงใช้ขมิ้นชันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรืออาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาหรือใช้ขมิ้นชันรักษาโรค 

ไม่แนะนำให้คุณรับประทานขมิ้นชันเป็นเวลาติดต่อกันนานๆ ควรเว้นช่วงให้ร่างกายขับสารตกค้างออกจากตับบ้าง

ปริมาณขมิ้นชันที่ควรทานต่อวัน

ไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจน ผลการศึกษาแบ่งออกเป็นหลายตัวเลข ในหลายงานวิจัยแนะนำให้ทานประมาณ 500-2,000 mg ต่อวัน 

ในขณะที่บางงานวิจัยระบุว่า ไม่ควรเกิน 8 กรัม (8000 mg) ต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หลายแหล่งข้อมูลแนะนำให้เลือกทานขั้นต่ำที่ 500-1000 mg ต่อวัน แล้วค่อยปรับเพิ่มตามความเหมาะสม จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ข้อควรระวังในการทานขมิ้นชัน

ข้อควรระวังในการใช้ขมิ้นชันสำหรับผู้ที่มีกลุ่มอาการเจ็บป่วย หรือกำลังใช้ยาดังต่อไปนี้ หากต้องการทานควรปรึกษาแพทย์ก่อน

  1. ผู้ป่วยโรคท่อน้ำดีอุดตัน
  2. ผู้ที่แพ้หรือไวต่อการบริโภคขมิ้นชัน
  3. ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี 
  4. หญิงตั้งครรภ์
  5. การใช้ขมิ้นชันร่วมกับสารป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
  6. การใช้ขมิ้นชันร่วมกับยาที่ผ่านกระบวนการเมตาบอลิซึมโดยโปรตีนไซโทโครม พี 450 (Cytochrome P450) เพราะสารเคอร์คูมินในขมิ้นชันมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในโปรตีนไซโทโครม พี 450 ได้แก่ 
    1. เอนไซต์ไซโทโครม พี 450 3 เอ 4 (Cytochrome P450 3A4: CYP2A4) 
    2. เอนไซน์ไซโทโครม พี 450 1 เอ 2 (Cytochrome P450 1A2: CYP1A)
  7. การใช้ขมิ้นชันร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เพราะตัวสมุนไพรจะมีผลต้านฤทธิ์ยาดังกล่าว เช่น 
    1. ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) 
    2. คลอมีทีน (Chlormethine)
    3. ไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)
    4. แคมป์โทเธซิน (Camptothecin)

สรรพคุณของสมุนไพรขมิ้นชันถือว่ามีความหลากหลายและมีคุณประโยชน์มากมายที่คุณไม่ควรพลาด บางทีการลองซื้อวิตามิน อาหารเสริม หรือลองรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมขมิ้นชันดู ก็อาจเป็นความคิดที่ดีในการเสริมต้นศึกษาและลิ้มลองรสชาติที่เต็มไปด้วยประโยชน์ของสมุนไพรชนิดนี้ 

คุณไม่จำเป็นต้องมองหาวิตามิน อาหารพืชผัก หรือยาราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศเสมอไป ลองหันกลับมามองดูสมุนไพรดั้งเดิมของไทยดูสักครั้ง แล้วคุณจะพบว่าพืชผักของบ้านเราก็มีประโยชน์ไม่แพ้ของต่างประเทศเลย


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat